วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

การทำขนมไทย



กล้วยไข่เชื่อม





ส่วนผสม


กล้วยไข่ห่ามๆ   12  ผล

น้ำตาลทราย      1   ถ้วยตวง

น้ำ                       1   ถ้วยตวง



วิธีทำ

1.  ตวงน้ำกับน้ำตาลใส่กระทะทองยกขึ้นตั้งไฟ เคี่ยวจนน้ำตาลละลาย แล้วนำมากรอง นำไปเคี่ยวใหม่จนน้ำตาลเดือด
2.  ปอกเปลือกกล้วย ลอกเส้นใยกล้วยออกให้หมด ใส่ในน้ำตาลที่เดือด จะเชื่อมทั้งลูก หรือตัดเป็น 2 ท่อนก็ได้
3.  เชื่อมไปสักครู่ จนเห็นว่าสีของกล้วยสุกเหลืองและใสทั่วกัน จึงตักขึ้นใส่จานหรือชามสำหรับรับประทาน

หมายเหตุ   ขณะเชื่อมกล้วย จะต้องไม่คน เพราะจะทำให้กล้วยเละและเป็นขน ควรใช้ช้อนตักน้ำเชื่อมราดบนกล้วยเท่านั้น


กลีบลำดวน





ส่วนผสม

แป้งสาลี                                         5  ถ้วยตวง

น้ำตาลทรายเม็ดบดละเอียด           4  ถ้วยตวง

น้ำมันพืชหรือหมู                            1  ถ้วยตวงครึ่ง


วิธีทำ

1.  ร่อนแป้ง 2-3 ครั้ง น้ำตาลบดละเอียด

2.  นำแป้งและน้ำตาลเคล้าให้เข้ากัน ใส่น้ำมันทีละน้อย นวดไปผสมไป จนปั้นเป็นก้อนได้

3.  ปั้นแป้งให้เป็นก้อนกลมๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1/2 นิ้ว ใช้มีดปลายแหลมกรีดแบ่งเป็น 3 กลีบ จัดรูปให้งุ้มเหมือนกลีบลำดวน หยิบแป้งปั้นเม็ดเล็กๆ วางกลางดอกเป็นเกสร

4.  ทาน้ำมันที่ถาดอบ เรียงขนมใส่ ใช้ไฟกลางประมาณ 15-20 นาที สุกแล้วพักไว้ให้คลายร้อน เก็บใส่ขวดโหล


ขนมด้วง




ส่วนผสม

เนื้อลูกตาลยีแล้ว      1/2  ถ้วยตวง

แป้งข้าวเจ้า                2   ถ้วยตวง

น้ำตาลทราย               1  ถ้วยตวง

กะทิ                            2  ถ้วยตวง

มะพร้าวทึนทึก            1   ซีก

วิธีทำ

1.  ผสมแป้งและเนื้อลูกตาล แล้วนวด เติมกะทิทีละน้อยจนหมด
2.  ใส่น้ำตาลทราย คนให้ละลายเข้ากันดี
3.  นำไปตากแดดสัก 3-4 ชม. ให้แป้งข้น
4.  ขูดมะพร้าวให้เป็นเส้นยาว
5.  เมื่อแป้งขึ้น เนื้อขนมจะนูนขึ้น ตักขนมหยอดใส่ถ้วยตะไล หรือกระทงก็ได้ แล้วโรยมะพร้าว นึ่งไฟแรงประมาณ 15 นาที

หมายเหตุ   เนื้อลูกตาลยีนั้น นำมาจากผลตาลที่สุกจนเหลืองดำ ส่วนมากจะหล่นจากต้นเอง  ผลตาลนั้นมีกลิ่นแรง เมื่อปอกเปลือกออกเนื้อข้างในจะเป็นสีเหลืองนำมายีกับน้ำสะอาดให้หมดสีเหลือง  นำน้ำที่ยีแล้วใส่ถุงผ้า ผูกไว้ให้น้ำตกเหลือแต่เนื้อ



ขนมน้ำดอกไม้




ส่วนผสม

แป้งสาลี (แป้งเบาที่สุด)        5  ถ้วยตวง

น้ำตาลทรายละเอียด            3  ถ้วยตวง                                                                                
ไข่ไก่                                     4  ฟอง

น้ำมะนาว                               3  ช้อนชา

น้ำ                                          2  ถ้วยตวง

หัวน้ำหอมมะลิ                      2  ช้อนชา

สีผสมอาหาร (เล็กน้อย ถ้าสีจัดจะไม่สวย)


วิธีทำ

1.  ร่อนแป้ง 3 ครั้ง

2.  ผสมน้ำ น้ำมะนาว หัวน้ำหอมมะลิ

3.  ตีไข่ให้ขึ้นฟู

4.  ค่อยๆ ผสมน้ำตาลลงในไข่ที่ตีขึ้นฟูแล้ว ตีต่อไปให้ขึ้นแข็ง น้ำตาลละลาย

5.  นำแป้งที่ร่อนแล้วผสมลงเบาๆ มือ สลับกับน้ำมะนาวที่ผสมไว้ อย่าให้แป้งเป็นเม็ด แบ่งผสมสีตาม        ชอบ

6.  นำถ้วยกระดาษหรือตัดกระดาษแก้ว จับมุมวางลงในถ้วยตะไล หยอดขนมลงให้เต็ม

7.  ตั้งลังถึงให้น้ำมากหน่อย รอให้น้ำเดือดพล่าน วางลังถึงขนมลง ลดไฟลงเล็กน้อย อย่าให้น้ำเดือด      มากนัก ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที  แล้วยกลง

 หมายเหตุ   ขนมปุยฝ้ายที่ดีนั้นจะแตกออกเป็นกลีบ 3 ถึง 4 กลีบจะสวย  นำขนมวางบนตะแกรงให้เย็นเสียก่อน จึงเก็บ ขนมจะไม่ขึ้นรา เก็บไว้ได้ประมาณ 3-4 วัน


credit : http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww523/banjongluk/banjongluk-web1/contents/topic8.htm

เทคนิคการทำขนมไทย


        การทำขนมหวานไทยให้ดี ต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง คือ ต้องมีใจรัก ชอบทำมีความอดทนตั้งใจมีความพิถีพิถันในการประดิษฐ์ให้ขนมมีรูปร่างที่น่ารับประทาน ขนมหวานไทยบางชนิดต้องฝึกทำหลายๆ ครั้งจึงจะได้ลักษณะที่ดี ประสบการณ์ และความชำนาญในการทำบ่อย ๆ ผู้ประกอบขนมหวานไทย จะประสบความสำเร็จในการทำ
        
        การทำขนมหวานไทยของคนรุ่นก่อนๆ จะใช้การกะส่วนผสมจากความเคยชินที่ทำบ่อย ๆ สัดส่วนของขนมจะไม่แน่นอน และยังเป็นการถ่ายทอดความรู้ให้กันเฉพาะภายในครอบครัวเท่านั้น แต่ในปัจจุบันขนมหวานไทยได้วิวัฒนาการให้ทัดเทียมกับขนมนานาชาติ  มีสูตรที่แน่นอน มีสัดส่วนของส่วนผสม และวิธีทำที่บอกไว้อย่างชัดเจน ผู้ประกอบขนมหวานไทยเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานในการชั่ง การตวง มีถ้วยตวง ช้อนตวง ใช้ภาชนะให้ถูกต้องกับชนิดของอาหาร เช่น การกวนจะใช้กระทะทองดีกว่าหม้อ หรือกระทะเหล็ก การทอดใช้กระทะเหล็กดีกว่ากระทะทอง ทำตามตำรับวิธีทำขั้นตอน อุณหภูมิที่ใช้ในการทำ ตลอดจนเลือกเครื่องปรุงที่ใหม่ ฉะนั้นการทำขนมหวานไทยควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้คือ

1. อุปกรณ์ในการทำขนม

2. เครื่องปรุงต่าง ๆ

3. เวลา

4. สูตร เครื่องปรุง และวิธีการทำขนม

5. ชนิดของขนม

6. วิธีการจัดขนม


credit : http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww523/banjongluk/banjongluk-web1/contents/topic6.htm

ขนมในเทศกาลต่างๆ


       ขนมไทยได้เข้ามามีบทบาทในงานบุญตั้งแต่อดีตมาแล้วที่คนไทยทำขนมพิเศษ ๆ เฉพาะงานบุญขึ้น นั่นหมายถึงในปีหนึ่ง ๆ จะมีการทำขนมชนิดนั้นเพียง ๑ ครั้งเท่านั้น เนื่องจากทำยากและต้องใช้แรงใจแรงกายของคนหลาย ๆ คนร่วมกัน ชาวบ้านจะทำขนมนั้นๆ ในปริมาณมาก ซึ่งถ้าเหลือจากงานบุญก็จะนำไปแจกจ่ายเพื่อนบ้านและเก็บไว้ กินเอง หากจะเรียกขนมไทยในงานบุญนี้ว่าขนมตามฤดูกาลก็คงจะไม่ผิดนัก

        ขนมไทยในเทศกาลต่างๆ มีดังนี้
       
        1. ขนมที่ใช้ในงานมงคลสมรส



                       
                       ถ้าเป็นงานมงคลสมรสมักจะทำขนมหวานให้ครบ 9 สิ่งขนมที่ใช้ในงานมงคลสมรสตามประเพณีทางฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเป็นผู้จัด และขนมที่นิยมจัด คือ

1. ฝอยทองหรือทองหยิบ

2. ขนมชั้น

3. ขนมถ้วยฟู

4. ขนมทองเอก

5. ขนมหม้อแกง

6. พุทราจีนเชื่อม

7. ข้าวเหนียวแก้ว หรือวุ้นหน้าสีต่าง ๆ

8. ขนมดอกลำดวน

9. ผลไม้ต่าง ๆ ลอยแก้ว

         แต่ตามความเชื่อบางอย่างของคนไทย ขนมที่มีลักษณะเป็นเส้น มักจะใช้สำหรับงานทำบุญอายุ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้มีอายุยืนยาว แต่กลับไม่ใช้จัดในงานศพ เพราะเชื่อว่าจะ มีการตายต่อเนื่องไม่เป็นมงคล ความเชื่อเหล่านี้ถือเป็นเหตุผลของแต่ละบุคคลมิได้เป็นข้อห้ามเสียทีเดียว


        2. ขนมที่ใช้ในพิธีการตั้งศาลพระภูมิ




                       
                        ขนมที่ใช้เป็นเครื่องสังเวยพระภูมิ คือ

1. ขนมต้มแดง

2. ขนมต้มขาว

3. ขนมเล็บมือนาง (ขนมคันหลาว)

4. ขนมดอกจอก หรือขนมทองหยิบ

5. ขนมถั่วแปบ (ขนมหูช้าง)

6. ขนมข้าวเหนียวแดง

7. ขนมประเภทบวดต่าง ๆ


        3. ขนมที่ใช้ในเทศกาลต่างๆ



                       

                       ประเพณีสงกรานต์ งานตรุษสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี คนไทยถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ขนมที่ใช้ทำได้แก่

1. กาละแม
2. ข้าวเหนียวแดง
     วันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษาตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 เป็นวันที่พระสงฆ์ต้องอยู่จำวัด ไม่ออกไปค้างแรมที่อื่นเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพราะเป็นฤดูฝน ขนมที่นิยมทำ ได้แก่
1. ข้าวต้มผัด
2. แกงบวดต่าง ๆ ได้แก่ แกงบวดฟักทอง แกงบวดมันสำปะหลัง
วันสารทไทย วันสารทไทยตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ขนมที่ใช้ทำกัน ได้แก่ กระยาสารท


           4. การทำบุญเดือนสาม




                      เป็นเทศกาลทำบุญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเรียกว่างานบุญข้าวจี่เป็นการจัดอาหารมาถวายพระที่อยู่ ณ สถานที่ของวัดเพื่อปลงอาบัติครั้งยิ่งใหญ่ในรอบปี ขนมที่ใช้
งานบุญเดือนสาม ได้แก่

1. ขนมเทียน

2. ข้าวต้มผัด                                                        

3. ข้าวจี่

   
        5. การทำบุญเดือนสิบ    



                  
                    การทำบุญเดือนสิบตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 เป็นเทศกาลของภาคใต้ เป็นการทำบุญแผ่ส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว ขนมที่ใช้ในการทำทำบุญเดือนสิบ ได้แก่

1. ขนมลา หมายถึง เสื้อผ้าแพรพัน
2. ขนมกง หมายถึง เครื่องประดับ
3. ขนมดีซัน หมายถึง เบี้ยหรือเงินใช้สอย
4. ขนมพอง หมายถึง แพรล่องข้าม
5. ขนมสะบ้า หมายถึง สะบ้า


ประเภทของขนมไทย


        ขนมหวานไทย หมายถึง อาหารชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่กับข้าว แต่เป็นอาหารที่รับประทานตามหลังของคาว เช่น ในอาหารมื้อกลางวันมีก๋วยเตี๋ยวไก่เป็นของคาว ผู้รับประทานอาจจะรับประทานทับทิมกรอบเป็นของหวาน เป็นต้นเมื่อบริโภคอาหารมื้อสำคัญๆ เช่น มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็นควรบริโภคทั้งของคาวและของหวาน สิ่งที่ใช้เป็นของหวานอาจเป็นขนมหรือผลไม้ก็ได้นอกจากจะรับประทานขนมหวานหลังของคาว เราอาจรับประทานขนมหรือขนมหวานในเวลาที่มิได้รับประทานอาหารคาว แต่จะรับประทานขนมหรือขนมหวานเป็นของว่าง หรือรับประทานขนมหวานกับเครื่องดื่ม

         ขนมหวานไทยจะมีความหวานนำ หรือมีความหวานจนรู้สึกในลิ้นของผู้รับประทานการทำขนมหวานไทยเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและฝึกฝนต้องใช้ศิลปะ วิทยาศาสตร์และ ความอดทน และความเป็นระเบียบ ความพิถีพิถันในการประกอบ ขนมไทยแท้ๆต้องมีกลิ่นหอม หวาน มัน  มีความประณีต ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การเตรียมส่วนผสม จนกระทั่งวิธีการทำ ขนมไทยสามารถจัดแบ่งเป็นชนิดต่างๆ ได้ตามลักษณะของเครื่องปรุง ลักษณะกรรมวิธีในการทำ และลักษณะการหุงต้ม คือ


   

     1. ขนมประเภทไข่ เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด สังขยา ฯลฯ

     2. ประเภทนึ่ง เช่น ขนมชั้น ขนมสาลี่ ขนมน้ำดอกไม้ ขนมทราย ฯลฯ

     3. ขนมประเภทต้ม เช่น ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว มันต้มน้ำตาล ฯลฯ

     4. ขนมประเภทกวน เช่น ขนมเปียกปูน ซ่าหริ่ม ขนมตะโก้ ฯลฯ

     5. ขนมประเภทอบและผิง เช่น ขนมดอกลำดวน ขนมบ้าบิ้น ขนมหน้านวล ฯลฯ

     6. ขนมประเภททอด เช่น ขนมกง ขนมฝักบัว ขนมสามเกลอ ฯลฯ

     7. ขนมประเภทปิ้ง เช่น ข้าวเหนียวปิ้ง ขนมจาก ฯลฯ

     8. ขนมประเภทเชื่อม เช่น กล้วยเชื่อม สาเกเชื่อม ฯลฯ

     9. ขนมประเภทฉาบ เช่น เผือกฉาบ กล้วยฉาบ มันฉาบ ฯลฯ

     10. ขนมประเภทน้ำกะทิ เช่น เผือกน้ำกะทิ ลอดช่องน้ำกะทิ ฯลฯ

     11. ขนมประเภทน้ำเชื่อม เช่น ผลไม้ลอยแก้ว วุ้นน้ำเชื่อม ฯลฯ

     12. ขนมประเภทบวด เช่น กล้วยบวดชี แกงบวดเผือก ฯลฯ

     13. ขนมประเภทแช่อิ่ม เช่น มะม่วงแช่อิ่ม มะเขือเทศแช่อิ่ม สะท้อนแช่อิ่ม ฯ 

credit :  http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww523/banjongluk/banjongluk-web1/contents/topic4.htm

ประวัติความเป็นมาของขนมไทย





สมัยสุโขทัย

        ขนมไทยมีที่มาคู่กับชนชาติไทย จากประวัติศาสตร์ที่ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศคือ จีนและอินเดียในสมัยสุโขทัย มีส่วนช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ด้านอาหาร การกินร่วมไปด้วย

 สมัยอยุธยา

        เริ่มมีการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับต่างประเทศทั้งชาติตะวันออกและตะวันตก ไทยเรายิ่งรับเอาวัฒนธรรมด้านอาหารของชาติต่างๆ มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ เครื่องมือเครื่องใช้ วัตถุดิบที่หาได้ ตลอดจนนิสัยการบริโภคของคนไทยเอง จนบางทีคนรุ่นหลังแทบจะแยกไม่ออกเลยว่า อะไรคือขนมไทยแท้ๆ อะไรที่เรายืมเค้ามา เช่น ทองหยิบ ทองหยอดและฝอยทอง หลายท่านอาจคิดว่าเป็นของไทยแท้ๆ แต่ความจริงแล้วมีต้นกำเนิดจากประเทศโปรตุเกส โดย "มารี กีมาร์" หรือ "ท้าวทองกีบม้า"
        "มารี กีมาร์" หรือ "ท้าวทองกีบม้า"เกิดเมื่อ พ.ศ. 2201 หรือ พ.ศ. 2202 แต่บางแห่งก็ว่า พ.ศ. 2209 โดยยึดหลักจากการแต่งงานของเธอที่มีขึ้นในปี พ.ศ. 2225 และขณะนั้น มารี กีมาร์ มีอายุเพียง 16 ปี บิดาชื่อ "ฟานิก (Phanick)" เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นผสมแขกเบงกอล ผู้เคร่งศาสนา ส่วนมารดาชื่อ "อุรสุลา ยามาดา (Ursula Yamada)" ซึ่งมีเชื่อสายญี่ปุ่นผสมโปรตุเกส ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในอยุธยา ภายหลังจากพวกซามูไรชุดแรกจะเดินทางเข้ามาเป็นทหารอาสา ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่นานนัก
ชีวิตช่วงหนึ่งของ "ท้าวทองกีบม้า" ได้เข้าไปรับราชการในพระราชวังตำแหน่ง "หัวหน้าห้องเครื่องต้น" ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง เป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลอง
        พระองค์ และเก็บผลไม้ของเสวย มีพนักงานอยู่ใต้บังคับบัญชาเป็นหญิงล้วน จำนวน 2,000 คน ซึ่งเธอก็ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ชื่นชม ยกย่อง มีเงินคืนทอง พระคลังปีละมากๆ ระหว่างที่รับราชการนี่เอง มารี กีมาร์ ได้สอนการทำขนมหวานจำพวก ทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง ทองพลุ ทองโปร่ง ขนมผิงและอื่นๆ ให้แก่ผู้ทำงานอยู่กับเธอและสาวๆ เหล่านั้น ได้นำมาถ่ายทอดต่อมายังแต่ละครอบครัวกระจายไปในหมู่คนไทยมาจนปัจจุบันนี้
ถึงแม้ว่า "มารี กีมาร์" หรือ  "ท้าวทองกีบม้า" จะมีชาติกำเนิดเป็นชาวต่างชาติ แต่เธอก็เกิด เติบโต มีชีวิตอยูในเมืองไทยจวบจนหมดสิ้นอายุขัย นอกจากนั้น ยังได้ทิ้งสิ่งที่เธอค้นคิด ให้เป็นมรดกตกทอดมาสู่คนรุ่นหลัง ได้กล่าวขวัญถึงด้วย  ความภาคภูมิ "ท้าวทองกีบม้า เจ้าตำรับอาหารไทย"
        ขนมจัดเป็นอาหารที่คู่สำรับกับข้าวไทยมาตั้งแต่ครั้งโบราณ โดยใช้คำว่าสำรับกับข้าวคาว-หวาน โดยทั่วไปประชาชนจะทำขนมเฉพาะในงานเลี้ยง นับตั้งแต่การทำบุญเลี้ยงพระ งานมงคลและงานพิธีการ อาหารหวานที่จัดเป็นสำรับจะต้องประกอบด้วย ของหวานอย่างน้อย 5 สิ่ง ซึ่งต้องเลือกให้มีรสชาติ สีสัน ชนิด ตลอดจนลักษณะที่ กลมกลืนกัน แต่ละสำรับจะต้องมีผลไม้ 10 ที่ และขนมเป็นน้ำ 1 ที่เสมอ
        ประเทศไทยครั้งยังเป็นสยามประเทศได้ติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ เช่น จีน อินเดีย มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยส่งเสริมการขายสินค้าซึ่งกันและกัน ตลอดจนแลกเปลี่ยน
วัฒนธรรมด้านอาหารการกินร่วมไปด้วย ต่อมาในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ได้มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ อย่างกว้างขวางไทยได้รับเอาวัฒนธรรมด้านอาหารของชาติต่าง ๆ มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น วัตถุดิบที่หาได้ เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนการบริโภคนิสัยแบบไทย ๆ จนทำให้คนรุ่นหลัง ๆ แยกไม่ออกว่าอะไรคือขนมที่เป็นไทยแท้ ๆ และอะไรดัดแปลงมาจากวัฒนธรรมของชาติอื่น เช่น ขนมที่ใช้ไข่และขนมที่ต้องเข้าเตาอบ ซึ่งเข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากคุณท้าวทองกีบม้าภรรยาเชื้อชาติญี่ปุ่น สัญชาติโปรตุเกสของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ผู้เป็นกงศุลประจำประเทศไทยในสมัยนั้น ไทยมิใช่เพียงรับทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทองมาเท่านั้น หากยังให้ความสำคัญกับขนมเหล่านี้โดยใช้เป็นขนมมงคลอีกด้วย ส่วนใหญ่ตำรับขนมที่ใส่มักเป็น "ของเทศ" เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง ทองหยอดจากโปรตุเกส มัสกอดจากสกอตต์
        ขนมไทย เป็นเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติไทยอย่างหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดี เพราะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนประณีตในการทำ ตั้งแต่วัตถุดิบ วิธีการทำ ที่กลมกลืน พิถีพิถัน ในเรื่องรสชาติ สีสัน ความสวยงาม กลิ่นหอม รูปลักษณะชวนรับประทาน ตลอดจนกรรมวิธีการรับประทาน ขนมแต่ละชนิด ซึ่งยังแตกต่างกันไปตามลักษณะของขนมชนิดนั้น ๆ
         ขนมไทยที่นิยมทำกันทุก ๆ ภาคของประเทศไทย ในพิธีการต่าง ๆ เนื่องในการทำบุญเลี้ยงพระ ก็คือขนมจากไข่ และมักถือเคล็ดจากชื่อและลักษณะของขนมนั้น ๆ งานสิริมงคลต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส ทำบุญวันเกิด หรือทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ส่วนใหญ่ก็จะมีการเลี้ยงพระกับแขกที่มาในงาน เพื่อเป็นศิริมงคลของงานขนมก็จะมีฝอยทอง เพื่อหวังให้อยู่ด้วยกัน ยืดยาวมีอายุยืน ขนมชั้น ก็ให้ได้เลื่อนขั้นเงินเดือน ขนมถ้วยฟูก็ขอให้เฟื่องฟู ขนมทองเอกก็ขอให้ได้เป็นเอก เป็นต้น